ข้อปฏิบัติตัว หลังทำรีแพร์กระชับช่องคลอด

ข้อปฏิบัติตัว หลังทำรีแพร์กระชับช่องคลอด รีแพร์ (Repair) หรือ การซ่อมแซม คือ การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่หย่อนยานภายในช่องคลอดให้กระชับขึ้น เพื่อให้ขนาดหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องคลอดเล็กลงและเกิดการหดรัดที่ดีกว่าเดิม โดยเป็นการผ่าตัดตลอดแนวความลึกของช่องคลอด รวมถึงการผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดด้วย

ช่องคลอดหลวม เกิดจากภาวะ อุ้งเชิงกรานหย่อน หรือ ภาวะ กระบังลมหย่อน สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์มาเป็นเวลานาน การตั้งครรภ์ การคลอดบุตรทางช่องคลอด การคลอดบุตรหลายคน รวมถึงบุตรมีตัวโต การทำคลอดไม่ถูกวิธี อายุที่มากขึ้น ภาวะอ้วน-ผอม ผู้ที่ต้องออกแรงเกร็งช่องท้องเป็นประจำ เช่น การยกของหนัก ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง มีก้อนในช่องท้อง ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง รวมถึงผู้ที่อยู่ใน วัยทอง

หากละเลยและทนอยู่กับปัญหานี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นการบั่นทอนความรู้สึก ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่มีความสุขในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดปัญหา ไอจาม ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

การทำรีแพร์เพื่อกระชับช่องคลอด จะแตกต่างจากการผ่าตัดวิธีอื่นคือ แผลที่ทำรีแพร์จะเป็นแผลที่แช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา เนื่องจากโดยปกติแล้วจะมีน้ำคัดหลั่งจากช่องคลอด จึงทำให้มีเชื้อแบคทีเรียเฉพาะของส่วนนั้นอยู่แล้ว รวมไปถึง อุจจาระ ปัสสาวะอีก หรือในบางคนที่มีตกขาวมาก อาจมีเชื้อราหรือแบคทีเรียบางตัวซ่อนเร้นอยู่ เป็นเหตุให้การผ่าตัดรีแพร์ต้องมีการดูแลค่อนข้างจะพิเศษ ซึ่งแผลรีแพร์จำเป็นต้องโดนน้ำ ยิ่งต้องทำความสะอาด พราะว่าถ้าไม่ทำความสะอาดไม่เช่นนั้นก็จะยิ่งทำให้แผลมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้นอีก ต่างจากการผ่าตัดวิธีอื่น คือการผ่าตัดอื่น ๆ จะไม่ให้แผลโดนน้ำ และหมอจะแนะนำคนไข้ให้รีบขยับลุกเดินเพื่อไม่ให้เกิดพังผืดขึ้น แต่การรีแพร์ต้องพยายามนอนให้นิ่งที่สุดเพราะการขยับอาจจะก่อให้เกิดการห้อเลือดได้ แต่ถ้า 2-3 วันแรก ขยับตัวให้น้อยที่สุดนอนให้นิ่งที่สุดโอกาสที่แผลจะหายเร็วจะมีมากกว่า

การดูแลหลังผ่าตัดรีแพร์

-หลังการผ่าตัดรีแพร์ ต้องนอนพักรักษาตัวภายใต้การดูแลของแพทย์ หลังจากนั้น พยายามนอนนิ่งๆ 3-5 วัน เพื่อลดการปวด ลดการเสียดสีเพราะเสี่ยงต่อเลือดออก2
-ระหว่างนี้ ควรรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ๆ จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวจึงจะสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้
-ควรใช้วิธีประคบเย็นเพื่อหยุดเลือด ไม่ต้องแช่น้ำอุ่นเพราะอาจจะทำให้เลือดไหลได้
-หากการผ่าตัดรีแพร์มีผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะมาจากกระเพาะปัสสาวะ เพื่อระบายปัสสาวะเป็นเวลา 1-2 วัน
-ต้องรับประทานยาที่แพทย์กำหนดตามปริมาณและวิธีการที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาควบคุมอาการ ดังนี้
1.ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง และไม่หยุดใช้ยาอย่างกะทันหันโดยปราศจากคำสั่งแพทย์
2.ยาแก้ปวด ลดอาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาที่เหมาะสมต่อสภาพร่างกาย ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยด้วย โดยผู้ป่วยต้องศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เช่น ปริมาณยาที่ควรรับประทานต่อครั้ง ระยะเวลาที่ควรเว้นช่วงการใช้ยา ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรรอให้มีอาการปวดอย่างรุนแรงก่อนจึงใช้ยา และหากใช้ยาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์
-สามารถปัสสาวะได้ปกติ ในช่วงแรกที่ทำรีแพร์มา อาจจะมีอาการแสบบ้าง ใช้น้ำเปล่าล้างก็หาย
-สามารถอาบน้ำได้แต่ห้ามใช้สบู่ฟอกบริเวณแผลที่ทำรีแพร์ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดเป็นเวลา 1 เดือน
-งดอาหารแสลง อาทิ ของหมักดอง อาหารทะเล บุหรี่ แอลกอฮอล์
-ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หลังจากทำรีแพร์ประมาณ 45 วัน
-หากต้องการมีบุตร แนะนำเป็นหลัง 6 เดือน หลังจากทำรีแพร์