ผู้ร่วมคิดวัคซีนโควิดของออกซฟอร์ดชี้ “ลิ่มเลือดอุดตัน” เกิดยากมาก

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับแอสตราเซเนกา ยืนยัน “ความปลอดภัย” ของผลิตภัณฑ์ และในขณะที่ผลข้างเคียงกับระบบเลือด “เกิดยากมาก” แต่ต้องศึกษาอย่างละเอียด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ว่า ศ.เอเดรียน ฮิลล์ นักวัคซีนวิทยาชาวไอริช ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหลายชนิด รวมถึงมาลาเรีย อีโบลา และล่าสุดคือโรคโควิด-19 กล่าวถึงการที่วัคซีน “แวกเซฟเรีย” ( Vaxzevria ) “ADZ1222” หรือ “ChAdOx1” ที่ออกซฟอร์ดพัฒนาร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง เกี่ยวกับ “ผลข้างเคียงร้ายแรง” เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน และเกล็ดเลือดต่ำ ว่าการฉีดวัคซีนให้ประโยชน์แก่ตัวบุคคล มากกว่าการเพิ่มแนวโน้มให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง

ทั้งนี้ ศ.ฮิลล์กล่าวต่อไปว่า ผลข้างเคียงร้ายแรงจากการได้รับวัคซีนเป็นกรณีที่เกิดขึ้นยากมาก ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด หรือกับวัคซีนยี่ห้ออื่น และวัคซีนที่พัฒนาด้วยนวัตกรรมแบบใดก็ตาม ซึ่งในขั้นทดสอบทางคลินิกมีอาสาสมัครเข้าร่วมนับหมื่นนับแสนคน โดยจาก 300,000 คน อาจมีคนป่วยคนหนึ่ง และจาก 1 ล้านคนอาจมีผู้เสียชีวิต 1 คน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการใช้วัคซีนท่ามกลางภาวะวิกฤติเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ตรวจพบได้เร็ว

เบื้องต้น ศ.ฮิลล์ตั้งสมมุติฐานว่า ความแตกต่างด้านพันธุกรรมของประชากรโลก ซึ่งมีหลากหลายเชื้อชาติและสีผิว อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการข้างเคียงร้ายแรงหลังได้รับวัคซีน ตอนนี้ทีมงานกำลังศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ก่อนดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อยกระดับการให้วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่ายการสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้
 
สำหรับ อนึ่ง วัคซีนของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด ใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ ( Viral Vector ) อาศัยอะดีโนไวรัสของลิงชิมแปนซี ผู้พัฒนาเชื่อมั่นว่า สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ ให้ผลิตโปรตีนในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรแนะนำการฉีดวัคซีนของแอสสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด  ห่างกัน 12 สัปดาห์ ระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สอง