วัคซีนมาลาเรียของออกซฟอร์ดดีเกินเกณฑ์อนามัยโลก

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเผยผลการทดสอบวัคซีน “เมทริกซ์-เอ็ม” เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย ให้ผลสูงถึง 77% ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวตัวแรก ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ว่า ศ.เอเดรียน ฮิลล์ นักวัคซีนวิทยาชาวไอริช ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหลายชนิด รวมถึงมาลาเรีย อีโบลา และโควิด-19  กล่าวถึงการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน “เมทริกซ์-เอ็ม” ซึ่งเป็นวัคซีนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพัฒนาเพื่อใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย กับกลุ่มตัวอย่างเป็นทารก 450 คน ในบูร์กินาฟาโซ ได้รับวัคซีนเมื่อปี 2562 และมีการติดตามผลในอีก 12 เดือนหลังจากนั้น ปรากฏว่า มีประสิทธิภาพโดยรวม 77%
 
ทั้งนี้ เมทริกซ์-เอ็ม นับเป็นวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียรายการแรก ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ที่กำหนดเป้าหมายให้โลกมีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 75% ภายในปี 2573 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความพยายามของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย แต่ผลที่ได้ยังคงไม่เกิน 55%
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผลที่ละเอียดมากขึ้น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเตรียมนำวัคซีนเมทริกซ์-เอ็ม เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม อาศัยกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,800 คน ใน 4 ประเทศของทวีปแอฟริกา โดยการทดสอบครั้งต่อไปจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกในด้านปริมาณ และบริษัทโนวาแวกซ์ของสหรัฐ
 
ศ.ฮิลล์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประชาชนในทวีปแอฟริกา โรคมาลาเรีย “มีความเสี่ยง” มากกว่าโรคโควิด-19 ประเมินจากอัตราการเสียชีวิตในปัจจุบันจากโรคมาลาเรียซึ่งมากกว่าโรคโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 4 เท่า หากการทดสอบระยะที่สามประสบความสำเร็จ และวัคซีนได้ขึ้นทะเบียนในที่สุด ความช่วยเหลือด้านการผลิตจากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย จะเป็นผลดีอย่างมากต่อทวีปแอฟริกา