อิหร่านตีกรอบไอเออีเอในการตรวจโรงงานนิวเคลียร์

แม้รัฐบาลเตหะรานต่อเวลา ให้เจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ทำงานต่อได้อีก 3 เดือน แต่จะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่นิวเคลียร์ภายในอิหร่าน “ได้อย่างอิสระ” อีกต่อไป สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ว่านายราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( ไอเออีเอ ) แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังเดินทางกลับจากการเยือนอิหร่าน ว่าได้พบหารือกับนายโมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รมว.กระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน นำไปสู่การเห็นชอบร่วมกันในหลักการ ว่ารัฐบาลเตหะรานจะขยายระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ให้กับคณะผู้สังเกตการณ์ของไอเออีเอ “ออกไปอีก 3 เดือน”
 
 
อย่างไรก็ตาม จะมีการเปลี่ยนแปลง “แนวทางปฏิบัติกิจกรรมบางประเภท” ของทีมงานไอเออีเอ โดยยังปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม แต่กรอสซียืนยันว่า รัฐบาลเตหะรานยังคงอนุญาตให้คณะทำงานของไอเออีเอเดินทางเข้าประเทศได้ในจำนวนตามที่ตกลงกันไว้
 
ขณะที่ซารีฟกล่าวที่กรุงเตหะราน ว่า “เงื่อนไขใหม่” ซึ่งอิหร่านกำหนดต่อไอเออีเอ รวมถึงการที่อีกฝ่ายจะไม่สามารถเข้าถึงภาพจากกล้องวงจรปิดภายในนิคมนิวเคลียร์ทุกแห่ง “ได้โดยอัตโนมัติ” หมายความว่า นับจากนี้ “จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง” ไอเออีเอต้องยื่นเรื่องอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอิหร่านอาจอนุมัติหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า หมายถึงการปิดกล้องทุกตัวในโรงงาน ตลอดระยะเวลาที่ทีมงานของไอเออีเออยู่ในพื้นที่หรือไม่
 
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอิหร่านกับไอเออีเอ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ก.พ. นี้ตามเวลาท้องถิ่น มีเนื้อหาสำคัญคือ รัฐบาลเตหะรานควรยกเลิกการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเข้าสู่พื้นที่นิวเคลียร์ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ซึ่งอิหร่านเปิดเผยอย่างเป็นทางการทางหรือไม่ และไม่ว่าไอเออีเอจะแจ้งกำหนดการล่วงหน้านานเพียงใดก็ตาม

ด้านนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันว่า สหรัฐยังคงพร้อมเจรจากับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือพลเมืองสหรัฐที่ถูกคุมขังอยู่ในอิหร่าน โดยเป็นการส่งเรื่องผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำกรุงเตหะราน
 
อนึ่ง ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ฉบับปี 2558 ระหว่างรัฐบาลเตหะราน กับสหรัฐ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี เน้นไปที่การจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร แต่รัฐบาลวอชิงตันของประธานาบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัว เมื่อปี 2561 และเดินหน้าคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่ออิหร่านจนถึงปัจจุบัน สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับรัฐบาลเตหะราน ซึ่งกลับมาเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว